..:: หัวใจขาดเลือด ::..

บทความโดย นางสาวจิตรา ทองเสม

          หลอดเลือด เมื่อมีไขมันมาสะสมพอกตัวหนาขึ้น ทำให้หลอดเลือดตีบและแข็งตัวจนกระทั่งรูสำหรับการไหลเวียน เลือดตีบตันลงไป เลือดไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ เป็นผลให้ เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และหากหลอดเลือดแดง ตีบแคบมากจนอุดตัน จะทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายได้ อาการเตือนของภาวะหัวใจขาดเลือด

          เจ็บกลางหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่ขึ้นมา เล็กน้อย เจ็บแบบจุกแน่น คล้ายมีอะไรมาบีบหรือกดทับไว้ อาการเจ็บมักร้าวไปที่คอหรือขากรรไกรหรือไหล่ซ้าย มักเป็นมากขณะออกกำลังกายหรือทำงาน เป็นอยู่นานครั้งละ 2-3 นาที อาการจะดีขึ้นถ้าได้หยุดพัก หรืออมยา ขยายหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจ บางคนอาจมีอาการจุกแน่น ลิ้นปี่เหมือนอาหารไม่ย่อย คลื่นไส้อาเจียน บางคนอาจมีอาการใจสั่น หอบเหนื่อย กล้ามเนื้อ อ่อนแรงร่วมด้วย

          ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือด แบ่งเป็น 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่
               1.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ได้แก่ ผู้ชายอายุเกิน 45 ปี ผู้หญิงอายุเกิน 55 ปี และกรรมพันธุ์ จะมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น
               2. ปัจจัยด้านพฤติกรรมซึ่งเป็นปัจจัยที่เราสามารถปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันโรคนี้ได้ถึง ร้อยละ 80 ปัจจัยเสี่ยงด้านนี้ ได้แก่ รูปแบบการดำเนินชีวิตที่ ไม่สมดุลระหว่างการกินและการออกแรง กินมากเกินพอดี ไม่ถูกสัดส่วน กินอาหารรสเค็ม หวานและมันสูง กินผักผลไม้น้อย ใช้เครื่องอำนวยความสะดวก เคลื่อนไหวร่างกายน้อย เครียดเป็นประจำ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่มือสอง ปัจจัยดังกล่าวส่งเสริมให้เกิดภาวะน้ำหนักเกิน อ้วน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เบาหวาน และส่งผลให้เกิดโรคหัวใจขาดเลือดตามมา

          การปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันโรคหัวใจขาดเลือด
          - กินอาหารถูกสัดส่วน สมดุลกับการใช้แรงของตัวเราเอง เลี่ยงเค็ม หวาน มัน เพิ่มผัก ผลไม้ที่หวานน้อย
          - ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ และปรับวิถีชีวิตให้มีการเคลื่อนไหว ไม่นั่ง ทำงานนานๆ ให้ลุกเดิน หรือบริหารร่างกายบ้าง
          - อารมณ์ดี และจัดการความเครียดอย่างเหมาะสม
          - ไม่สูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีควันบุหรี่ ลดดื่มสุราและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ผสม และที่สำคัญอีกประการหมั่นสังเกตอาการผิดปกติของร่างกาย หากพบสิ่งผิดปกติ ให้รีบไปพบแพทย์ และควรไปตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

.................................................................................................................................................................... ที่มา : http://www.thaihealth.or.th สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)